แค่ใช้คำให้เป็น ก็ดูเด่นระดับมิชลินสตาร์

A’phirat Nimanussonkul
odds.team
Published in
4 min readNov 30, 2022

--

7 เทคนิคเพิ่มโอกาสตอบตกลง ที่ทำยังไงให้อีกฝ่ายตอบตกลงคำขอของเรา

image: Freepik.com

ส่วนตัวผมเองนั้น เป็นคนที่มีวิธีการสร้างคำที่ต้องการสื่อสารค่อนข้างน้อย โดยสังเกตตัวเองได้จากการทำงานครับ เวลาที่ต้องคิด copy, message ที่ต้องสื่อสารกับ user หรือแม้กระทั่ง message ที่จะเขียน commit code ก็ค่อนข้างใช้เวลาเลยละครับ

ด้วยเหตุนี้ ตัวผมเองจึงได้พยายามหาคอร์สหรือช่องทางการศึกษาอื่น ๆ เพิ่มเติม
จนได้ไปเจอคอร์ส UX Writing ของ Skooldio (ผมมีจดสรุปไว้ด้วย สามารถแวะไปอ่านกันได้นะครับ -> จดสรุปคอร์ส UX Writing ของ Skooldio)

หลังจากเรียนจบก็รู้สึกตระหนัก และอินกับการสร้าง, การ craft คำมาก ๆ เลย นอกจากนี้ก็ยังมองหาแหล่งความรู้อื่น ๆ จนไปเจอหนังสือของ ซาซากิ เคอิจิ (copy writer ชาวญี่ปุ่น) นั่นคือ “แค่ใช้คำให้ฉลาด ก็เพิ่มโอกาสจาก 0 เป็น 100” และ “แค่ใช้คำให้เป็น พูดไม่ต้องเก่ง ก็พลิกสถานการณ์ได้

โดยเนื้อหาของหนังสือจะพูดถึงเกี่ยวกับการสร้างคำ หรือการเปลี่ยนแปลงคำพูดเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเพิ่มโอกาส พลิกสถานการณ์ตรงหน้า ทำให้เราเป็นคนสื่อสารได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงอยากนำมาแชร์ให้ทุกท่านครับ

วิธีการที่จูงใจคนบนเครื่องบิน ให้เลือกอาหารชุดที่เหลือเยอะกว่า

พนักงานบนเครื่องบินคนหนึ่งกำลังเสิร์ฟอาหารให้กับผู้โดยสารบนเครื่องบิน โดยมีตัวเลือกเป็นอาหารชุดเนื้อวัว และชุดปลา แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่เลือกกินอาหารชุดเนื้อวัว ทำให้อาหารชุดปลาเหลือเป็นจำนวนมาก ซึ่งพนักงานรุ่นพี่ก็เข้ามาตำหนิให้เธอเสิร์ฟทั้งสองชุดให้เท่า ๆ กัน — (เหตุการณ์สมมติจากหนังเรื่อง Happy Flight)

ถ้าเป็นคุณจะสื่อสารอย่างไรดีครับ ?

“ขอโทษนะครับ เหลือแต่อาหารชุดปลาครับ”

ถ้าคำตอบเป็นแบบนี้ ผิดแล้วละครับ ทำไมผมถึงบอกว่าผิดกันละ?

  • อันดับแรก ผู้โดยสารเมื่อได้ยินคำตอบว่า “เหลือแต่อาหารชุด…” คำที่เขาได้ยินชัด ๆ เลยคือคำว่า “เหลือ” ครับ พอได้ยินแบบนี้เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็ไม่อยากได้ของสิ่งนั้นใช่ไหมละครับ
  • ต่อมาคือ เราจะรู้สึกเหมือนโดนยัดเยียดอาหารชุดปลา (ที่เป็นของเหลือ) ให้เลยครับ

“วันนี้มีอาหารชุดปลาเนื้อขาวอบสมุนไพร โรยพริกไทยดำและเกลือจากโอกินาวา
ที่อุดมด้วยแร่ธาตุ ส่วนอาหารอีกชุดเป็นเนื้อวัวธรรมดาครับ”

หลังจากได้ยินแบบนี้ ผู้โดยสารส่วนใหญ่เลือกอาหารชุดปลาด้วยความเต็มใจ

ถึงแม้ว่านี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง ทุกอย่างเป็นการแสดงก็จริงครับ แต่ถ้าเรามองในสถานการณ์จริง ก็ต้องยอมรับเลยครับว่า คำตอบที่สองทำให้ผมเต็มใจที่จะเลือกอาหารชุดปลามากกว่าชุดเนื้อ ซึ่งในตัวอย่างนี้ในหนังสือบอกว่าเป็นการใช้เทคนิค “สิ่งที่อีกฝ่ายชอบ” ครับ

แต่ก่อนที่จะทราบถึงเทคนิคทั้ง 7 นั้น เราต้องทราบถึง 3 ขั้นตอน เปลี่ยนคำขอร้องให้อีกฝ่าย ตอบตกลง กันก่อนครับ

3 ขั้นตอนเปลี่ยนคำขอร้องให้อีกฝ่าย ตอบตกลง

ทำไมคนเราถึงโดนปฏิเสธคำขอร้องบ่อย ๆ หรือไม่ได้รับความร่วมมือจากคนอื่น? หนึ่งในเหตุผลนั่นก็คือ คนเรามักจะพูดตามที่ใจเราคิดครับ (โดยเฉพาะผมเลย ฮ่า ๆ ) และหรือ คำขอนั้นเป็นคำขอที่ผู้ขอได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว ดังนั้นเพื่อที่จะให้คำขอของเรา มีโอกาสที่อีกฝ่ายจะตอบตกลง เราควรทำตาม 3 ขั้นตอนนี้ครับ

  1. ไม่พูดตามที่ใจคิด
    บางครั้งคนเราพูดอะไรไปตรง ๆ ก็อาจจะดีใช่ไหมละครับ เพราะเป็นการสื่อสารที่จริงใจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะเหมาะสมกับทุกสถานการณ์ เพราะบางครั้งคู่สนทนาของเราก็ไม่พร้อมได้ยินสิ่งนั้นครับ ดังนั้นให้เราหยุดคำขอที่เราจะร้องขอไปก่อนครับ แล้วนึกถึงขั้นตอนต่อไป
  2. คาดเดาความคิดของอีกฝ่าย
    ขั้นตอนนี้ให้คุณคาดเดาความคิดอีกฝ่ายครับ ว่าเขามีแนวโน้มที่จะ ตอบตกลงคำขอของเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าเขามีแนวโน้มจะตอบตกลง คุณก็พูดออกไป
    ตรง ๆ เลยครับ แต่แนวโน้มไปทาง ปฏิเสธ ให้คุณลองนึกเกี่ยวกับอีกฝ่ายครับ
    ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หรือมีนิสัยอย่างไรบ้าง แล้วไปต่อที่ขั้นตอนสุดท้ายกันครับ
  3. ขอร้องในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
    ให้คุณสร้างคำขอร้องที่เป็นประโยชน์ต่ออีกฝ่าย และต่อตัวคุณเอง โดยให้ใช้ความคิดของอีกฝ่ายเป็นพื้นฐาน ซึ่งในขั้นตอนนี้เองคุณจะได้เลือกใช้
    7 เทคนิคเพิ่มโอกาสตอบตกลงครับ

7 เทคนิคเพิ่มโอกาสตอบตกลง

เป็นเทคนิคที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้อีกฝ่าย ตอบตกลง จะใช้ในโอกาสที่เราต้องขอร้องผู้อื่น ซึ่งเทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าจะได้ผล 100% นะครับ แต่เป็นเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วย เพิ่มโอกาส ให้คำขอของเราได้รับการตอบรับมากขึ้นครับ

  1. สิ่งที่อีกฝ่ายชอบ
  2. สิ่งที่อีกฝ่ายไม่ชอบ
  3. เลือกได้อย่างเสรี
  4. อยากเป็นที่ยอมรับ
  5. พิเศษเฉพาะคุณ
  6. ทำกันเป็นทีม
  7. ขอบคุณ

ถึงตรงนี้ เราก็ได้ทราบเกี่ยวกับ 3 ขั้นตอนการเปลี่ยนคำขอร้องให้อีกฝ่ายตอบตกลง และ 7 เทคนิคเพิ่มโอกาสตอบตกลง แล้วนะครับ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมจะขอยกตัวอย่างการใช้ 7 เทคนิคที่ได้เล่ามาข้างต้นจากหนังสือนะครับ

1. สิ่งที่อีกฝ่ายชอบ

Photo by Nicole Michalou

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไร กล่าวคือ ให้คุณขอร้องในสิ่งที่อีกฝ่ายชอบ หรือเป็นสิ่งที่อีกฝ่ายให้ value เช่น ตัวอย่างที่พนักงานเสิร์ฟอาหาร โน้มน้าวใจผู้โดยสารบนเครื่องบิน ให้เลือกอาหารชุดปลา จากหนังเรื่อง Happy Flight ที่ผมยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้ หรือลองดูตัวอย่างนี้กันครับ

วิธีการที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่เข้มงวดเรื่องราคายอมซื้อสินค้าที่ราคาแพงขึ้น
บริษัทผลิตอุปกรณ์นำทางติดรถยนต์แห่งหนึ่งกำลังประสบปัญหาน่าหนักใจ เพราะถูกบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ขอต่อรองราคาลดลงอีก 5% จากเดิมอยู่ที่ 3% และสุดท้ายบริษัทก็ต้องจำใจยอมรับข้อเสนอจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามหว่านล้อมด้วยการเสนอขายสินค้าที่ราคาแพงขึ้น

“ลองผลิตอุปกรณ์นำทางติดรถยนต์ที่มีคุณภาพสูง และราคาแพงหน่อยไหมครับ”

ถ้าบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ยื่นข้อเสนอในลักษณะนี้ให้ทางบริษัทรถยนต์ คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นครับ ทางบริษัทผลิตรถยนต์จะ ตอบตกลง หรือ ปฏิเสธ ครับ

แน่นอนว่าอาจจะตอบ ปฏิเสธ ใช่ไหมละครับ ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนั้น เพราะในทางธุรกิจแล้ว การที่ทำให้บริษัทมีรายได้ที่ดีนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการควบคุมต้นทุนใช่ไหมละครับ การที่บริษัทผลิตรถยนต์เขาขอลดราคาสินค้าลงเป็น 5% ก็เป็นตัวบ่งบอกหนึ่งที่บอกว่า บริษัทต้องการลดต้นทุน ถ้าเราดูจากข้อเสนอนี้สิ่งที่อีกฝ่ายจะได้ยินจะมีเพียงคำว่า ราคาแพงขึ้น ครับ

“ลองผลิตอุปกรณ์นำทางติดรถยนต์ที่เป็นจุดขายของบริษัทดูไหมครับ”

เราเห็นข้อแตกต่างอะไรบ้างกับสองตัวอย่าง?
อันดับแรกคือ ข้อเสนอที่สองไม่ได้พูดถึงเรื่องราคาเลยครับ แต่กลับเป็นการเสนอขายสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทผลิตรถยนต์ครับ
ต่อมาคำว่า เป็นจุดขายของบริษัท ทำให้บริษัทรถยนต์สนใจข้อเสนอนี้มากขึ้น เพราะมองว่าสินค้าชิ้นนี้จะทำให้ยอดขายของรถยนต์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อบริษัทครับ

2. สิ่งที่อีกฝ่ายไม่ชอบ

Photo by Andrea Piacquadio

เป็นเทคนิคที่เราชี้ให้อีกฝ่ายเห็นผลลัพธ์ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากไม่ทำตามที่เราร้องขอ ซึ่งต้องยอมรับเลยครับว่า เป็นสิ่งที่ฝืนใจอีกฝ่ายแน่นอน ดังนั้นหนังสือจึงแนะนำให้เป็นท่าไม้ตายสุดท้าย ไว้สำหรับกรณีที่อีกฝ่ายเป็นคนที่รับมือยาก ๆ ครับ เรามาลองดูตัวอย่างกันครับ

วิธีการใช้คำที่ทำให้คุณแม่หันไปตักเตือนลูกที่ส่งเสียงดังรบกวนคนอื่นทันที
ช่วงเย็นตอนร้านอาหารสำหรับครอบครัวแห่งหนึ่งจะมีลูกค้าเข้ามาทานอาหารจำนวนมาก โดยกลุ่มลูกค้าก็มีทั้งส่วนที่มากันเป็นครอบครัว พนักงานบริษัท และลูกค้าทั่วไป สิ่งหนึ่งที่มักเป็นปัญหากับร้านอาหารแห่งนี้คือ เด็ก ๆ ที่ครอบครัวพามาด้วยมักจะส่งเสียงดังและวิ่งเล่นกันไปทั่วร้าน แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อลูกค้าท่านอื่น ๆ ด้วย

“คุณลูกค้าช่วยพาเด็ก ๆ กลับมานั่งที่ได้ไหมครับ เพราะว่ารบกวนลูกค้าท่านอื่นอยู่ครับ”

ถ้าหากพนักงานในร้านพูดบอกเหล่าแม่ ๆ คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นครับ?
ผมเชื่อว่าถ้าเป็นคุณแม่ที่มีความรับผิดชอบสูง เขาจะ ได้ยิน และ ตระหนัก ว่าลูกของเขากำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นจริง

แต่นั่นไม่เสมอไปใช่ไหมครับ บางคนอาจจะได้ยินแค่ว่า ลูกของเขาสร้างความเดือดร้อน แต่แทนที่จะตระหนักรู้ มันกลับกลายเป็นแรงต้าน สุดท้ายแล้วเราก็จะไม่ได้รับความร่วมมือใด ๆ กับคุณแม่ครับ

“ทางร้านกำลังเสิร์ฟอาหารร้อนอยู่ ถ้าพนักงานเดินชนเด็ก อาหารอาจลวกเอาได้ ช่วยบอกให้เด็ก ๆ กลับมานั่งที่ได้ไหมครับ”

เป็นอย่างไรบ้างครับ ถ้าพนักงานบอกแม่ ๆ ไปอย่างนี้พนักงานได้รับความร่วมมือแน่นอนเลยใช่ไหมครับ

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของทั้งสองตัวอย่างเลยคือ
ตัวอย่างแรกมีนัยยะของการตำหนิเด็ก ๆ ว่าสร้างความเดือดร้อนผู้อื่น
แต่ในตัวอย่างที่สองเป็นการสื่อสารความเป็นห่วงของพนักงาน กลัวว่าลูก ๆ ของเขาจะได้รับบาดเจ็บ ทำให้คุณแม่ ๆ เต็มใจที่จะพาลูก ๆ ของเธอกลับมานั่งที่มากกว่าตัวอย่างแรกครับ

3. เลือกได้อย่างเสรี

Photo by Liza Summer

เป็นเทคนิคที่ทำให้อีกฝ่ายปฏิเสธได้ยากมาก ๆ มิหนำซ้ำเขาเองก็เผลอตอบตกลงโดยไม่ได้ทันคิดเลยละครับ เพราะว่าเทคนิคนี้แทนที่เราจะพูดขอร้องอีกฝ่าย แต่เป็นการพูดเสนอตัวเลือกที่เราเตรียมมาไว้ครับ และตัวเลือกเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นตัวเลือกไหนก็เข้าทางเรา เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นเรามาลองดูตัวอย่างกันครับ

วิธีการเพิ่มยอดขายของหวานในร้านอาหาร
เวลาไปกินอาหารที่ร้าน ตอนที่ใกล้จะกินเสร็จพนักงานก็จะเดินเข้ามาถามคุณว่า

“รับของหวานไหมคะ”

ถ้าเจอคำถามแบบนี้ ลูกค้าบางท่านที่มักชอบสั่งของหวานมากินก็อาจจะตอบตกลง แต่สำหรับบางท่านที่ไม่ชอบของหวานเท่าไรก็อาจจะตอบปฏิเสธไปใช่ไหมครับ ตัวอย่างคำถามแบบนี้เป็น Yes/No question ที่ขึ้นอยู่กับความชอบของอีกฝ่าย ซึ่งก็มีโอกาสที่อีกฝ่ายจะตอบตกลงอยู่ที่ 50% ครับ

ในมุมมองของธุรกิจ ทางร้านก็ต้องการทำกำไรให้ได้มากใช่ไหมครับ ยอดขายก็เป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งที่ช่วยให้ร้านมีกำไรที่ดีได้ ดังนั้นถ้าคุณเป็นพนักงานจะถามลูกค้าอย่างไรให้เพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจะเลือกทานของหวานครับ

“ของหวานวันนี้มีพุดดิ้งมะม่วงและไอศครีมชาเขียว คุณลูกค้าจะเลือกรับอะไรดีคะ”

เมื่อมีตัวเลือกมากกว่าสองอย่างขึ้นไป คนเรามักจะเลือกโดยไม่ทันคิด วิธีนี้เองก็ช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเลือกทานของหวานเพิ่มเติมได้ครับ

วิธีทำให้น้องช่วยงานบ้านโดยไม่รู้ตัว
คุณแม่ของผมมักจะพูดกับผมว่า เวลาที่กินข้าวเสร็จน้อยครั้งที่น้องจะช่วยเก็บข้าวเก็บชอง และล้างบ้าน บางครั้งเหลือแค่จานตัวเองก็ไม่ล้าง หรือบอกให้นำข้าวไปให้น้องหมาก็ปฏิเสธ เมื่อผมได้ยินเช่นนั้นจึงทดลองใช้เทคนิคการ เลือกได้อย่างเสรี ดูครับ

จากเดิมที่คุณแม่มักจะขอร้องให้น้องช่วยงานบ้าน คุณแม่จะขอร้องครั้งละ 1 อย่างครับ ผมจึงเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้ครับ

ระหว่างเอาข้าวไปให้น้องหมา กับล้างจาน อยากช่วยพี่ทำอะไร?

น้องของผมตอบแบบไม่ต้องคิดว่า “ขอล้างจาน” ดีกว่า เพราะถ้าเอาข้าวไปให้น้องหมา น้องหมาจะไม่ยอมกิน (ถ้าน้องผมเป็นคนให้นะครับ ฮ่า ๆ ) คำตอบนั่นทำให้คุณแม่ประหลาดใจมาก ๆ แล้วหันมาบอกกับผมว่า ถ้าเป็นแม่ขอร้องนะไม่มีทางทำแน่เลย

4. อยากเป็นที่ยอมรับ

Photo by Askar Abayev

ผมเชื่อว่าคนเราทุกคนย่อมต้องการเป็นที่ยอมรับในสายใครสักคนใช่ไหมครับ
เช่น เด็ก ๆ ก็อยากถูกผู้ใหญ่มองว่าเขาโตแล้ว ลูกน้องในที่ทำงานก็ต้องการการยอมรับจากหัวหน้า

เทคนิคนี้จึงใช้ได้ผลดีกับคนในครอบครัวและการทำงาน อีกทั้งยังช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นด้วย จะมีวิธีการใช้อย่างไร ไปลองดูกันครับ

วิธีการใช้คำที่ทำให้เด็กยอมให้จูงมือเดินข้ามถนนด้วยความยินดี
คุณยายท่านหนึ่งกำลังประสบปัญหาครับ เนื่องจากหลานชายวัย 3 ขวบไม่ยอมให้คุณยายจูงมือเดินข้ามถนน

“จับมือยายไว้ มันอันตราย”

คุณยายพยายามให้หลานชายจับมือเพื่อที่เธอจะแน่ใจได้ว่าหลานปลอดภัย ก่อนเดินข้ามถนน แต่หลานชายก็ไม่ยอมจับ เนื่องจากลึก ๆ แล้วเขาไม่ต้องการให้ใครปฏิบัติกับเหมือนเด็ก

สุดท้ายคุณยายจึงขอร้องหลานชายใหม่ว่า

“ยายไม่กล้าข้ามถนน ช่วยจูงมือยายข้ามถนนได้ไหมครับ”

เมื่อขอร้องแบบนี้แล้ว หลานชายสามารถรับรู้ได้เลยว่าคุณยายไม่ได้ปฏิบัติต่อเขาเหมือนเด็ก มองว่าเขาเป็น hero คนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือคุณยายเดินข้ามถนนครับ

5. พิเศษเฉพาะคุณ

Photo by Freepik

เป็นเทคนิคที่เชื่อว่าหลายท่านเคยเจอมาบ่อยมาก ๆ ครับ แต่อาจจะไม่รู้ตัว เช่น

“เฉพาะคุณ แพคเกจสุดพิเศษสำหรับลูกค้ารายเดือน …”

ใช่ครับ เรามักจะเจอเทคนิคพิเศษเฉพาะคุณกับงานขายสินค้าครับ เพราะคนเราเมื่อได้ยินคำว่าพิเศษเฉพาะคุณ ก็จะรู้สึกใจอ่อนจนยอมทำตามคำขอร้องครับ เราลองไปดูตัวอย่างกันครับ

วิธีการใช้คำของศูนย์ให้บริการ ที่เปลี่ยนลูกค้าที่ไม่พอใจให้เป็นลูกค้าประจำ
คุณซาซากิเล่าว่า เขามักใช้สินค้าของบริษัท A ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อใช้งานไปสักพักก็จะมีอาการรวนบ้างเป็นครั้งคราว
ในเวลาแบบนี้คุณซาซากิโทรไปยังศูนย์บริการ เขารู้ว่าบางกรณีที่สินค้ามีปัญหาบริษัทจะเปลี่ยนสินค้าให้โดยไม่คิดเงิน

ตอนนั้นพนักงานไม่ได้พูดกับคุณซาซากิว่า

“ทางเราจะเปลี่ยนสินค้าให้โดยไม่คิดเงินค่ะ”

แต่เธอบอกว่าคุณซาซากิว่า

“ทางเราจะเปลี่ยนสินค้าให้โดยไม่คิดเงิน ถือเป็นสิทธิพิเศษเฉพาะคุณซาซากิซึ่งเป็นลูกค้าประจำค่ะ”

สำหรับผมที่เป็นลูกค้า แค่บริษัทยอมเปลี่ยนสินค้าให้โดยไม่คิดเงินก็พอใจมาก ๆ แล้วครับ

คุณซาซากิยังบอกต่อด้วยว่า ตอนแรกเขาคิดว่าจะร้องเรียนเรื่องสินค้ามีปัญหา
กลับเป็นว่าเขารู้สึกเชิงบวกว่า เขาได้รับบริการอย่างดี! แถมยังรู้สึกว่าตัวเองเท่านั้นที่ได้รับบริการพิเศษแบบนี้ และคิดว่าบริษัท A นี่ดีจริง ๆ
(สุดท้ายเพื่อนของคุณซาซากิก็บอกว่า ตอนที่เพื่อนเขาไปก็ได้รับคำตอบแบบนี้เหมือนกัน และเปลี่ยนสินค้าให้ด้วย ฮ่า ๆ )

6. ทำกันเป็นทีม

Photo by fauxels

คนเรามักชอบคำว่า ทำด้วยกัน เป็นพิเศษครับ สังเกตุดูไหมครับว่าเมื่อมีใครมาชวนให้คุณทำอะไรสักอย่างด้วยคำว่า ทำด้วยกัน, ไปด้วยกัน, ทำกับเป็นทีม เราจะรู้สึกอยากทำสิ่งนั้นมากขึ้น

เคยไหมครับที่เพื่อนสมัยเรียนมัธยมชวนว่า เข้าห้องน้ำกันไหม ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้สึกอยากเข้าก็ตาม แต่ก็มักจะตอบตกลงแล้วเดินไปเข้าห้องน้ำกับเพื่อน ๆ

หนังสือบอกว่า การชอบทำอะไรร่วมกับผู้อื่นเป็นสัญญาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์เราครับ ดังนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างมากครับถ้าเราสามารถนำสิ่งนี้มาใช้ถึงแม้ว่าเรื่องที่ขอร้องจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากแค่ไหนก็ตาม — เอาละเรามาลองดูตัวอย่างการใช้เทคนิคนี้กันครับ

เทคนิคการใช้คำของลูกสาวที่โน้มน้ามคุณพ่อให้ยอมออกกำลังกายได้สำเร็จ
หญิงสาวท่านหนึ่งมักเล่าให้เพื่อนสมัยมหาลัยฟังว่า ตัวเองสนิทกับคุณพ่อมาก ๆ คุณพ่อเป็นคนใจดีและรับฟังลูกสาวอยู่เสมอ

แต่มีเรื่องเดียวที่ไม่ว่าเธอจะขอร้องคุณพ่อยังไงคุณพ่อก็ไม่ยอมทำตามสิ่งที่เธอขอ
สิ่งนั้นคือ การออกกำลังกาย เนื่องจากผลการตรวจสุขภาพของคุณพ่อไม่ค่อยดีนัก

คุณพ่อออกกำลังกายบ้างสิคะ

ทั้งเธอและคุณแม่ก็พยายามแนะนำคุณพ่อให้ออกกำลังกาย แต่ก็ไม่ได้ผล
เพราะคุณพ่อท่านคิดว่าการออกกำลังกายตอนที่อายุมากแล้วเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก
จึงไม่มีกะจิตกะใจจะลุกขึ้นมาออกกำลังกาย

หนูจะไปวิ่งตอนกลางคืน แต่ไม่กล้าไปคนเดียว คุณพ่อไปวิ่งด้วยกันไหมคะ

ได้ผลดีทีเดียวเลยครับ คุณพ่อท่านนี้ยอมออกไปวิ่งกับลูกสาว จะเห็นว่าคำขอร้องนี้มีสองเทคนิครวมเข้าด้วยกันครับ คือ สิ่งที่อีกฝ่ายไม่ชอบ และ ทำกับเป็นทีม นั่นคือคุณพ่อไม่อยากให้ลูกสาวได้รับอันตราย และการใช้คำพูดว่า วิ่งด้วยกัน

7. ขอบคุณ

Photo by Freepik

แค่พูดว่า ขอบคุณ อีกฝ่ายก็จะรู้สึกสนิทสนมกับคุณมากขึ้นจน ปฏิเสธ คำขอร้องได้ยาก

เมื่อคนเราได้รับความเป็นมิตรจากใคร ก็จะเกิดความรู้สึกอยากตอบแทนด้วยความเป็นมิตรกลับไป ในทางจิตวิทยาเรียกพฤติกรรมนี้ว่า “การตอบแทนความเป็นมิตร”

สำหรับผมแล้วเทคนิคนี้เป็นสิ่งที่ผมพูดอยู่ตลอดครับ มองว่าเป็นสิ่งที่ง่ายและสำคัญที่สุดในการขอบคุณนำ้ใจของอีกฝ่ายเวลาที่เขาทำอะไรให้เรา

วิธีการใช้คำที่ทำให้เซียนต่อราคายอมซื้อสินค้าโดยไม่ขอลดราคาเพิ่ม
พนักงานขายมือใหม่ท่านหนึ่งกำลังนำเสนอสินค้าให้กับลูกค้านักต่อราคาอยู่ภายในร้าน โดยมีรุ่นพี่คอยยืนดูและให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ

“ขอโทษครับ ลดราคาไม่ได้แล้วครับ”

นักต่อราคาท่านนี้พยายามต่อราคาสินค้า โดยชี้ให้เห็นถึงตำหนิสินค้าและหาทางต่อราคาทุกวิถีทาง รุ่นพี่ที่ยืนอยู่ห่าง ๆ เห็นว่าท่าไม่ดีแล้วจึงรีบเข้ามาช่วยรุ่นน้องแล้วนำเสนอเสน่ห์ของสินค้า นำเสนอข้อดีต่าง ๆ มากมาย

แต่สุดท้ายแล้วนักต่อราคาท่านนี้ก็ไม่ยอมซื้อสินค้าสักที จากนั้นรุ่นพี่ก็กำมือล้วงเข้าไปในกระเป๋า แล้วยืนมาวางที่มือของลูกค้าพร้อมกับบอกว่า

“ผมแถมความจริงใจให้ พี่ช่วยซื้อหน่อยได้ไหมครับ ขอบคุณนะครับ”

พอได้ยินแบบนี้ลูกค้าก็ยิ้มแล้วพูดว่า “น้องเป็นคนตลกดีนะ พี่ชอบ” และยอมซื้อสินค้าตามราคาป้ายกลับไป

ส่งท้าย

อ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อเหลือเกินว่าหลายท่านจะได้เทคนิคการใช้คำขอร้องให้อีกฝ่ายตอบตกลงคำขอของทุก ๆ ท่านไม่มากก็น้อย เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านอาจมีความกังวลและไม่มั่นใจในตนเองถ้าหากเจอกับสถานการณ์จริง ๆ จะสามารถใช้มันได้หรือเปล่า

ไม่เกินจริงเลยครับที่จะบอกว่าขณะที่ผมกำลังพิมพ์บทความจนมาถึงบรรทัดนี้ ตัวผมเองก็มีความรู้สึกแบบนั้นครับ สิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาก็เพื่อขัดเกลา สร้างกล้ามเนื้อทางความคิด โดยฝึกการใช้เทคนิคทั้ง 7 ข้อให้มากขึ้นวันละเล็กละน้อยครับ

หวังว่าทุกท่านจะชอบบทความนี้นะครับ หากท่านใดมีประสบการณ์การใช้คำที่อยากแบ่งปันสามารถพิมพ์คอมเม้นเข้ามาแบ่งปันได้เลยครับผม สวัสดีครับ

--

--